- ภูมิปัญญาท้องถิ่น

การเซิ้งผ้าหมี่บ้านขวาว ในงานประเพณีบุญบั้งไฟจะทำทุกๆ ปีไม่เคยว่างเว้น  โดยมีจุดมุ่งหมายในการศึกษาคือศึกษาเกี่ยวกับองค์ประกอบในการเซิ้งผ้าหมี่ศึกษาเกี่ยวกับความเชื่อ ค่านิยม และศึกษาผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคมในการเซิ้งผ้าหมี่ ขอบเขตของการศึกษาเฉพาะที่บ้านขวาว อำเภอเสลภูมิ  จังหวัดร้อยเอ็ด ตั้งแต่เดือนมิถุนายน – กันยายน  ๒๕๔๘

 ในการศึกษาขอสรุปเป็นประเด็นๆ โดยลำดับ ดังนี้

                 ๑.   สภาพทั่วไปของบ้านขวาว

                   ๒.  องค์ประกอบเกี่ยวกับการเซิ้งผ้าหมี่

                   ๓.  ความเชื่อ และค่านิยมในการเซิ้งผ้าหมี่

                   ๔.  ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ  สังคมและวัฒนธรรมในการเซิ้งผ้าหมี่

  สภาพทั่วไปของบ้านขวาว

           บ้านขวาว  ตำบลขวาว  อำเภอเสลภูมิ  จังหวัดร้อยเอ็ด  มีหมู่บ้านทั้งหมด ๖ หมู่บ้าน  ประกอบด้วย หมู่ที่ ๗   ๘   ๙   ๑๑   ๑๕ และ ๑๖   เป็นหมู่บ้านเก่าแก่ไม่มีหลักฐานว่าก่อตั้งเมื่อไร  มีเล่าต่อๆ กันมาว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายในรัชสมัยพระเทพราชาครองราชสมบัติ  เจ้าครวญต่อฟ้า (เป็นครวญช้าง)  มาจากเมืองยโสธรได้นำช้างมาเลี้ยงที่บ้านคำบักเว (ปัจจุบันอำเภอเสลภูมิ) แต่ก่อนถึงบ้านคำบักเวพบแหล่งอุดมสมบูรณ์ จึงแบ่งคนออกเป็น ๒ กลุ่ม กลุ่มหนึ่งเดินทางขึ้นไปทางทิศเหนือและอีกส่วนเดินไปทางทิศตะวันตกพบป่าทึบก็ได้เดินทางต่อขึ้นไป ต่อมาก็อพยพลงมาที่ป่าทึบคือป่าขวาวและตั้งบ้านเรือนเป็นเป็นขวาวในปัจจุบันนี้

          ในด้านวัฒนธรรม ประเพณี จะยึดฮีดสิบสอง เป็นประเพณีประจำ  ๑๒  เดือนใน ๑ปี และทุกประเพณีก็ที่ได้รับความร่วมแรงจากชาวบ้านทุกคนและทุกคนสนุกสนาน พร้อมเพรียงมีประเพณีที่ได้จัดทำยิ่งใหญ่และสืบต่อกันมา คือ  ประเพณีบุญบั้งไฟและเซิ้งผ้าหมี่

องค์ประกอบความเป็นมาของการเซิ้งผ้าหมี่

          ประวัติความเป็นมาของการเซิ้งผ้าหมี่ พบว่ามีมานานแล้วเกิดมาก็เห็นการเซิ้งผ้าหมี่ และจากการศึกษาเอกสารของโรงเรียนชุมชนบ้านขวาวสันนิฐานว่าได้รูปแบบมาจากประเทศลาว  โดยผู้เซิ้งจะต้องเป็นผู้ชายเท่านั้นไม่จำกัดว่าอายุเท่าไร  และการเซิ้งจะเซิ้งในงานประเพณีบุญบั้งไฟโดยเซิ้งก่อนวันงาน ๓ วันปัจจุบันเซิ้งก่อนวันงาน   ๑   วัน

จุดมุ่งหมายของการเซิ้งผ้าหมี่

          ๑.   เพื่อเป็นการรำเซิ้งถวายแด่พญาแถนบนสรวงสรรค์ ให้ประทานฝนแก่ชาวไร่ ชาวนา

          ๒.  เพื่อถวายสิ่งศักดิ์สิทธิในหมู่บ้านให้ปกป้องรักษาหมู่บ้าน ชาวบ้านได้อยู่อย่างมีความสุขอุดมสมบูรณ์

ขั้นตอนในการเซิ้งผ้าหมี่

          การเตรียมความพร้อม  การเตรียมตัวของผู้เซิ้ง  เมื่อคณะกรรมการหมู่บ้านประชุมตกลงกันที่จะจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟ ก็มีการส่งข่าว ถึงผู้ชายในหมู่บ้านให้ทราบว่าจะมีงานและให้เตรียมตัวเซิ้งผ้าหมี่และชวนเพื่อนๆ เซิ้งผ้าหมี่ส่วนเครื่องแต่งกาย พ่อ-แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย  จะเป็นคนหาและเตรียมไว้ให้ประกอบด้วย  เสื้อสีดำ ผ้านุ่งเป็นผ้าหมี่ทอมือ ผ้าคาดเอว  สไบ  กระโจม  สร้อยสังวาล  ร่ม   แว่นตาดำ   รองเท้า   ถุงเท้า  กระดิ่งโปง   สะไน  นกหวีด

          การเริ่มต้นเซิ้ง  จะเริ่มเมื่อทราบว่ามีการจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟการเซิ้งจะเซิ้งก่อนงาน ๓ วัน (ในอดีต)  ปัจจุบันเซิ้งผ้าหมี่ก่อนงาน  ๑  วัน  ผู้เซิ้งผ้าหมี่ถ้ามีหลายกลุ่มจะตกลงกันในการเดินเซิ้งเพื่อไม่ให้เซิ้งในแต่คุ้มเจอกัน การเริ่มต้นเซิ้งผ้าหมี่ จะเริ่มในตอนเช้า  เมื่อทุกคนมาพร้อมกันมากพอสมควร  โดยเฉพาะผู้ตีกลอง ผู้นำกาพย์เซิ้งพร้อมแล้วก็เริ่มเซิ้งผ้าหมี่ไปรอบๆ หมู่บ้านส่วนผู้เซิ้งที่แต่งตัวเสร็จที่หลังก็สามารถเข้าขบวนเซิ้งระหว่างทางได้เลย  การจัดแถวเซิ้งผ้าหมี่จะเป็นแถวตอนเรียงสอง หัวหน้าแถวคนหนึ่งจะเป็นผู้ว่ากาพย์เซิ้งให้ลูกคู่ว่าตาม คนตีกลองจะอยู่ตรงกลางเพื่อให้จังหวะเพราะจะได้ยินทั่วถึงในท้ายขบวนจะมีคนคัดท้าย คนคัดท้ายต้องทำท่าให้แปลกๆ  คนดูจะได้หัวเราะขณะเซิ้งรอบๆ หมู่บ้านก็จะมีชาวบ้านนำเหล้า หรือข้าวหมากมาฝากแล้วมีขันน้ำตั้งไว้หน้าบ้าน เพื่อผู้เซิ้งผ้าหมี่หิวน้ำก็สามารถดื่มได้เลย  ในวันงานแห่บั้งไฟถือว่าสำคัญที่สุดเพราะวันนั้นคนทุกหมู่บ้านจะมาเที่ยวงาน  ผู้เซิ้งจะแต่งตัวพิถีพิถันและเซิ้งสุดฝีมือ เพื่อจะได้อวดสาวๆ และการเซิ้งในตอนเช้าขบวนเซิ้งจะต้องนำคณะไปเซิ้ง ปู่ตา ที่ดอนปู่ตา มเหสักข์หลักบ้าน ขออโหสิกรรมที่ล่วงเกินและขอให้ฟ้าฝนตกต้องตามฤดูกาล พอได้เวลาใกล้บ่ายโมง ขบวนแห่บั้งไฟจะตั้งขบวนที่สนามโรงเรียนชุมชนบ้านขวาว ส่วนขบวนเซิ้งผ้าหมี่ก็รอที่หน้าโรงเรียนชุมชนบ้านขวาว  เมื่อพร้อมขบวนเซิ้งผ้าหมี่ก็จะเริ่มนำขบวนก่อน  เพื่อไปที่วัดสระโบสถ์ (วัดใต้) ของหมู่บ้านก่อน  ขบวนเซิ้งผ้าหมี่เมื่อเข้าวัดจะหุบร่มที่กางมา เพื่อแสดงความเคารพและเอาสไบที่คล้องมานั้นนำมาคลุมไหล่ใช้มือทั้งสองข้างจับไว้ขณะที่เซิ้งทำให้สวยงามและการเซิ้งเวียนขวารอบโบสถ์ ๓ รอบ ก็เป็นการสิ้นสุดการเซิ้งผ้าหมี่

          ความเชื่อ ค่านิยมการเซิ้งผ้าหมี่  ชาวบ้านขวาวมีความเชื่อในเรื่องผี เทวดา และสิ่งศักดิ์สิทธิ การเซิ้งผ้าหมี่ ชาวบ้านจะเชื่อและมีความศรัทธา ที่พร้อมเพรียงกัน  โดยไม่มีการบังคับมาเซิ้ง  เพื่อการรำเซิ้งถวายแด่พญาแถนบนสรวงสวรรค์ให้ประทานฝน  เพื่อทำไร่ ทำนา และอีกอย่างหนึ่ง  เพื่อถวายสิ่งศักดิ์สิทธิในหมู่บ้านได้ปกปักรักษาคนในหมู่บ้านได้อยู่อย่างมีความสุขอุดมสมบูรณ์

ผลกระทบในด้านเศรษฐกิจ  สังคมและวัฒนธรรม

          การเซิ้งผ้าหมี่ในงานประเพณีบุญบั้งไฟ ถือว่าเป็นงานบุญที่จะหยุดการทำงานทั้งหมด  เพื่ออยู่ร่วมงานและฉลองกินกันอย่างมีความสุข ผลจากการถือปฏิบัติมาเรื่อยๆ ผลกระทบที่ตามมาคือการสิ้นเปลือง  ประมาณ  ๓,๐๐๐-๕,๐๐๐  บาท  เพราะต้องเตรียมข้าวปลาอาหารต้อนรับแขกที่มาร่วมงานแต่ก็ถือว่าได้โชว์ผ้าหมี่ของชาวบ้าน  โชว์ลูกชาย  อวดให้สาวๆได้ชื่นชม ส่วนผลดีที่ได้รับคือญาติพี่น้องได้กลับบ้านเกิดความอบอุ่นในครอบครัว รักหวงแหนในวัฒนธรรมดั้งเดิมของตนเกิดความสามัคคีในหมู้บ้านได้ที่พึงทางใจและส่งเสริมผู้ชายในหมู่บ้านช่วยเหลืองานสังคมหมู่บ้าน เกิดความเสียสละ

ประวัติความเป็นมา
        การเซิ้งผ้าหมี่ในงานประเพณีบุญบั้งไฟบ้านขวาวได้มีการเซิ้งต่อกันมาหลายชั่วอายุ จากการสัมภาษณ์ กล่าวว่า การเซิ้งผ้าหมี่บ้านขวาวมีมานานแล้ว ตั้งแต่เกิดมาก็มีการเซิ้งผ้าหมี่ และจากการศึกษาเอกสารของโรงเรียนชุมชนบ้านขวาว สันนิษฐานได้ว่า บรรพบุรุษของชาวบ้านขวาวซึ่งอพยพมาจากฝั่งลาวนำมาเผยแพร่ และได้สืบทอดต่อกันมาขนกลายเป็นประเพณี โดยผู้เซิ้งจะต้องเป็นผู้ชายเท่านั้น ไม่จำกัดว่าอายุเท่าไร การเซิ้งผ้าหมี่จะเซิ้งก่อนงานบุญบั้งไฟ ๓ วัน และจะเซิ้งเฉพาะในงานบุญบั้งไฟเท่านั้น ปีหนึ่งจะเซิ้งครั้งเดียว การเซิ้งก่อนงานบุญบั้งไฟนั้นจะเซิ้งบริเวณรอบ ๆ หมู่บ้านตามคุ้มต่าง ๆ เหนื่อยก็พัก และเซิ้งต่อไปเรื่อย ๆ โดยไม่กำหนดว่าจะหยุดเมื่อไร ถ้าใครเหนื่อยจะหยุดก็หยุด โดยเป็นการตกลงกันเองในคณะผู้เซิ้ง
ความเชื่อ
        คติความเชื่อเรื่องผี เทวดาที่มีอยู่ในปัจเจกชนแต่ละคน ซึ่งได้พยายามค้นหาคำตอบในปรากฏการณ์ที่ได้เกิดขึ้น ผี เทวดาจึงเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจเหนือธรรมชาติที่อยู่เหนือการควบคุม
ของมนุษย์ เมื่อมนุษย์ได้มาอยู่รวมกันเป็นชุมชน ได้มีความรัก ความผูกพัน และแสดงพฤติกรรมร่วมกันการเซิ้งผ้าหมี่จึงเป็นพิธีกรรมหนึ่งที่เกี่ยวพันกับความเชื่อ

        พิธีกรรมมีความสัมพันธ์กับความเชื่อ พิธีกรรมที่เกิดขึ้นในสังคมเป็นการรวมกลุ่มสร้างความเป็นปึกแผ่นขึ้นในสังคมชาวบ้าน ความสัมพันธ์กับความเชื่อดั้งเดิมของคนในสังคม เพื่อให้เห็นเด่นชัด จึงขอยกเอาพิธีบูชาแถนมาเล่าไว้ พิธีบูชาแถนในสังคมอีสาน เกิดจากชาวอีสานมีความเชื่อเรื่องแถนหรือพญาแถนหลวง ซึ่งถือว่าเป็นผี เทวดาของกลุ่มชาติพันธุ์ ไทย-ลาว เมื่อทำการบูชาแล้ว แถนหรือเทวดาก็จะคุ้มภัยอันตรายแก่มนุษย์ หากมนุษย์ละเลยไม่บูชาเทวดาแถนแล้ว ท่านจะโกรธและอาจให้โทษกับคนในสังคมได้ การทำพิธีบูชาจึงเปรียบเสมือนพิธีกรรมที่ทำให้เกิดความอบอุ่น เกิดกำลังใจ เกิดความเชื่อมั่นขจัดความกลัวออกไป การบูชาแถนก็กลายเป็นพิธีกรรมที่ศักดิ์สิทธิ เช่น พิธีขอฝน ซึ่งทำให้เกิดความเป็นปึกแผ่นในสังคม ซึ่งมาจากความเชื่อในเรื่องดังกล่าวนี้ จึงมีความหมายเกี่ยวกับประเพณีบุญเดือนหกหรือบุญบั้งไฟ ซึ่งนำไปสู่การแสดงออกของกลุ่มชนชาวอีสานที่ได้พัฒนาองค์ประกอบของประเพณีบุญเดือนหกไปสู่การละเล่นการเซิ้งผ้าหมี่ เพื่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์พร้อมทั้งความสนุกสนาน

จากการศึกษาการเซิ้งผ้าหมี่บ้านขวาว สรุปความเชื่อในการเซิ้งผ้าหมี่ ได้ดังนี้
        การเซิ้งผ้าหมี่เป็นการรวมกลุ่มในสังคมชาวบ้านขวาวกับความสัมพันธ์ที่เชื่อดั้งเดิมของคนในสังคมซึ่งรับอิทธิพลมาจากบรรพบุรุษของตนที่อพยพมาจากฝั่งลาวว่า จะต้องมีการบูชาแถนหรือพญาแถน ซึ่งถือว่าเป็นผีหรือเทวดาของกลุ่มชาติพันธุ์ ไทย-ลาวที่จะคุ้มภัยอันตรายแก่มนุษย์และประทานฝนลงมาให้ ซึ่งกำลังจะทำไร่ ทำนา ให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ในท้องถิ่นตนเอง ในปี ๒๕๐๒ หมู่บ้านขวาวไม่ประกอบพิธีประเพณีบุญบั้งไฟและการเซิ้งผ้าหมี่ สังเกตพบว่าชาวบ้านในหมู่บ้านเกิดล้มตายลงเป็นจำนวนมากในระยะเวลาใกล้เคียงกัน โดยหาสาเหตุไม่ได้ ทำให้ชาวบ้านในหมู่บ้าน ต้องนัดประชุมค้นหาสาเหตุแห่งการตาย ดังกล่าว ชาวบ้านส่วนใหญ่เชื่อกันว่า เป็นเพราะผีสางเทวดาและพระยาแถนโกรธที่ชาวบ้านไม่ประกอบพิธีกรรมบุญบั้งไฟ จึงลงโทษทำให้ชาวบ้านเกิดการล้มตายโดยไม่ทราบสาเหตุ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวชาวบ้านได้ร่วมกันจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟขึ้นถึงแม้จะเลยเดือน ๖ ไปแล้วก็ตาม และการเซิ้งผ้าหมี่ก็ได้เซิ้งบอกกล่าวให้พระยาแถนทราบด้วย หลังจากนั้นการล้มตาย โดยไม่ทราบสาเหตุในระยะใกล้เคียงกันก็ไม่ปรากฏอีกต่อไป และพบประเด็นที่น่าสนใจว่า ในขณะการเซิ้งผ้าหมี่ไปรอบๆหมู่บ้านจะมีผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านอายุประมาน ๗๐ ปีขึ้นไป ถึงแม้จะเดินไม่ได้แต่ก็คลานออกมาแล้วยกมือประนมไหว้จนขบวนเซิ้งผ้าหมี่ผ่านไป ซึ่งผู้ที่เซิ้งผ้าหมี่ในขบวนได้สอบถามคนแก่ว่า เพราะอะไรถึงยกมือไหว้ขบวนเซิ้งผ้าหมี่ ได้รับคำตอบว่าการเซิ้งผ้าหมี่ผู้เซิ้งคือเทวดาที่ลงมาเซิ้งในโลกมนุษย์นั้นเอง จะสังเกตได้ว่าผู้เซิ้งมีแต่ผู้ชายเท่านั้นการแต่งตัวก็สวมหมวกกระโจมรูปพรหมสี่หน้าเหมือนเทวดา นอกจากนั้นพบว่า การเซิ้งผ้าหมี่ในขณะที่เซิ้งนำขบวนแห่บั้งไฟ เมื่อผ่านประตูเข้าวัดโบสถ์นั้น ผู้เซิ้งทุกคนจะหุบร่มและเอาสไบที่พาดไหล่ออกมากางคลุ่มไหล่แล้วใช้มือจับทั้งสองข้างสไบปลิวไสวสวยงามมาก การหุบร่มถือเป็นการทำความเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิที่อยู่ในวัดและคลี่สไบออกให้เกิดความสวยงามและยังต้องเซิ้งอ้อมโบสถ์ของวัดด้วย โดยทุกคนเชื่อว่าเป็นการแสดงความเคารพต่อหลวงปู่ผู้สร้างวัดโบสถ์ตั้งแต่สมัยโบราณ ซึ่งถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เมื่อผู้เซิ้งกระทำไปแล้วเชื่อว่าตนเอง ครอบครัว และชุมชน จะอยู่ดีมีความสุข อุดมสมบูรณ์ และอีกประการหนึ่ง 
ก่อนการเซิ้งผ้าหมี่นำหน้าขบวนแห่บั้งไฟคณะผู้เซิ้งจะไปรวมตัวกันที่ดอนปู่ตาใกล้โรงเรียนชุมชนบ้านขวาวเพื่อประกอบพิธีสักการะบูชาผีปู่ตาและผีมเหสักข์หลักบ้านขอความเป็นสิริมงคลแก่ตนและหมู่บ้านผ่านเฒ่าจ้ำ นอกจากนั้นกระโจมสวมศีรษะ และเครื่องแต่งตัวของผู้เซิ้งผ้าหมี่ ชาวบ้านมีความเชื่อว่า วัสดุและลวดลายในกระโจมเป็นการปักหน้าพรหมหรือที่เรียกว่าพรหมสี่หน้าบนกระโจมสวมศีรษะทำให้ผู้คนได้ระลึกถึงการปฏิบัติตนให้อยู่ในศีลธรรมอันดี มีความเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ทำให้เกิดความเชื่อเกี่ยวกับสวรรค์ โดยเฉพาะลักษณะการเซิ้งนั้นสะท้อนให้เห็นถึงชั้นของพรหมที่อยู่ในชั้นจาตุสวรรค์ ซึ่งในชั้นนี้ก็มีการแสดงด้วย

จากการศึกษาพบว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ปรากฏในหมู่บ้านประกอบด้วย
        ๑. ศาลปู่ตา ตั้งอยู่บริเวณที่ดอนป่าไม้หนาทึบติดกับโรงเรียนชุมชนบ้านขวาว โดยมีต้นไม้ใหญ่ ๆ และชาวบ้านเชื่อว่าผีปู่ตาจะดูแลผู้ที่ทำความดี การสื่อสารในการประกอบพิธีกรรมเลี้ยงปู่ตา โดยผ่านเฒ่าจ้ำในหมู่บ้าน เพื่อส่งข่าวให้ทราบว่ามีการทำบุญบั้งไฟในวันนี้และมีการเซิ้งผ้าหมี่ด้วยในวันนั้น นอกจากนี้ก็ยังได้มีการบนบานของผู้ที่จะไปสอบหรือจับสลากเป็นทหาร เมื่อบนบานแล้วก็เกิดความสบายใจ ส่วนผลที่เกิดขึ้นเมื่อสมดั่งใจก็ไปแก้บน ถ้าไม่เป็นไปตามที่บนบานไว้ ก็ถือว่าสิ่งที่บนบานใหญ่เกินกว่าสิ่งศักดิ์สิทธิจะช่วยได้
        ๒. ศาลมเหศักดิ์หลักเมือง จะตั้งอยู่ตรงกลางหมู่บ้านของคุ้มใต้อยู่ในเนื้อที่ของบ้านนางหนูพิษ 
โพธิจักร และบ้านแม่สมสนิท งามสง่า พบว่าในแต่ละปีชาวบ้านจะมีการเลี้ยงบ้านก่อนทำนาและเชื่อว่ามเหศักดิ์ หลักเมืองจะคุ้มครองชาวบ้านและดูแลให้สุขสบาย อุดมสมบูรณ์ การทำบุญประเพณีทุกอย่างก็จะมีการเลี้ยงบ้านเช่น บุญประเพณีบั้งไฟและการเซิ้งผ้าหมี่ก็จะเสียงส่งข่าวให้ สิ่งศักดิ์สิทธิทราบว่ากำลังทำบุญประเพณี โดยผ่านทางเฒ่าจ้ำ
       ๓. ศาลหลวงปู่ (เดิมเป็นเจดีย์)ซึ่งเป็นเจ้าหลักวัด ปัจจุบันได้ก่อสร้างโบสถ์ทับบริเวณที่ตั้งเจดีย์เก่าที่เป็นสิงสถิตต์ดวงวิญญาณของท่าน จึงอัญเชิญหลวงปู่ให้ออกไปอาศัยอยู่ศาลแห่งใหม่ใต้ต้นโพธิในวัดสระโบสถ์นั้น ในพิธีกรรมที่วัดสระโบสถ์พบว่า คณะผู้เซิ้งจะเซิ้งรอบโบสถ์ทำความเคารพ ๓ รอบ โดยการหุบร่มเมื่อผ่านประตูเข้าวัด และเอาสไบออกมาคลุมไหล่ใช้มือจับปลายทั้งสอง
เวลาเซิ้งผ้าหมี่จะพลิ้วสวยงามมาก

ค่านิยมในการเซิ้งผ้าหมี่
       ชาวอีสานเป็นผู้ที่มีความศรัทธา เชื่อถือและยึดมั่นในศาสนาอย่างเหนียวแน่น แต่ก็เป็นความนับถือศรัทธาแบบชาวบ้าน ซึ่งบางครั้ง ชาวอีสานอาจจะเห็นว่า ไม่สามารถสนองตอบความต้องการทางใจหรือเป็นที่พึ่งทางใจได้เช่นในขณะที่เกิดภัยพิบัติจากธรรมชาติต่างๆ ชาวอีสานจึงหันไปพึ่งเทวดา ฟ้าดิน ภูตผีวิญญาณต่างๆ จึงพบว่าภาคอีสานนั้นมีพิธีกรรมต่างๆ มากมาย โดยเชื่อว่าจะเป็นที่ชื่นชอบของสิ่งที่นับถือนั้นๆ โดยเฉพาะเมื่อมีพิธีก็ต้องมีการสาธยายเวทมนต์ ซึ่งมีการผูกสัมผัสเป็นบทร้อยกรอง แล้วขับแห่พรรณนาคำวิงวอนต่อมาคำขับกล่อมเหล่านี้ได้พัฒนามาเป็นเพลงในพิธีกรรมต่อมา
และมีการทำเครื่องดนตรีมาประกอบ และมีการฟ้อนรำเป็นท่าทางต่างๆ เข้ามาช่วยเสริม
ดังนั้น ดนตรีและการฟ้อนรำของชาวอีสานที่เป็นของดั้งเดิมนั้น ส่วนใหญ่เป็นฟ้อนการรำอันเนื่องมาจากพิธีกรรมทั้งสิ้น หรือในอีกลักษณะหนึ่งจะเป็นการรื่นเริงหลังฤดูการเกี่ยวกับหรือมีความสำเร็จในการประกอบอาชีพเช่น การล่าสัตว์ การเพาะปลูกย่อมมีการขอบคุณต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์
ที่คนศรัทธาที่ได้ช่วยให้เกิดผลดี จากการศึกษาพบว่า การเซิ้งผ้าหมี่บ้านขวาว ชาวบ้านเชื่อว่าผู้ชายสามารถสื่อสารกับสิ่งศักดิ์สิทธิได้และศรัทธาต่อการเซิ้งในประเพณีบุญบั้งไฟมาก เพราะจะทำทุกปี
ไม่เคยเว้นเลย ส่วนผู้ที่มาเซิ้งผ้าหมี่ก็มาด้วยความสมัครใจ ศรัทธาในการเซิ้ง เพื่อให้ตนเองครอบครัว สังคมในหมู่บ้านมีความสุข เกิดความสนุกสนานและสร้างความสามัคคีในหมู่บ้านขึ้นเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมให้คงอยู่ ซึ่งได้สืบทอดต่อ ๆ มา
ลำดับขั้นตอนการแสดง
การเซิ้งผ้าหมี่บ้านขวาว ถือเป็นประเพณีที่สำคัญของหมู่บ้านอย่างหนึ่งทุกครอบครัวได้ร่วมมือปฏิบัติต่อกันมา ดังนี้
    ๑. การเตรียมความพร้อม
        ๑.๑ การเตรียมตัวของผู้เซิ้ง
เมื่อคณะกรรมการหมู่บ้านประชุมตกลงกำหนดวันจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟเป็นที่เรียบร้อย ผู้เป็นหัวหน้าของการเซิ้งผ้าหมี่ก็จะบอกหนุ่ม ๆ หรือผู้ชายในหมู่บ้านให้เตรียมตัว แต่ในขณะเดียวกันผู้เฒ่า ผู้แก่ พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ในหมู่บ้านเมื่อได้ข่าวก็จะไปบอกลูกชายหลานชาย
ของตนให้ร่วมเซิ้งผ้าหมี่ ส่วนตัวผู้เซิ้งผ้าหมี่ก็จะเซิ้งโดยการสมัครใจ ไม่มีใครบังคับ ส่วนการเตรียมตัว
ผู้เซิ้งไม่ต้องทำอะไรมากนักขอให้สมัครใจเท่านั้น
        ๑.๒ การเตรียมการแต่งกาย
เมื่อลูกหลานสมัครใจว่า จะเซิ้งก็บอก พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ซึ่งท่านทั้งหลายเหล่านี้จะเป็นผู้หาเครื่องแต่งกายให้ ซึ่งประกอบด้วยเสื้อแขนกระบอกผ้าไหมสีดำเย็บมือย้อมด้วยมะเกลือ (ทำให้เป็นสีดำ) หรือย้อมคราม (น้ำแต้ม) ลายผ้าเป็นลายตา คล้ายผ้าขาวม้าแต่ลายเล็ก ๆ แต่ปัจจุบันเสื้อเก่าบางตัวชำรุดมากจึงต้องใช้เสื้อสำเร็จรูปแขนยาวสีดำแทน ผ้านุ่ง เป็นผ้าหมี่ทอมือเช่นกัน มีผ้าคาดเอว เรียกว่า แพรไหม หรือ สไบ ทอด้วยผ้าไหมย้อมสีเหลืองสด เวลาเซิ้งจะห่มทับเสื้อแบบเฉลียง อีกผืนหนึ่ง คือ ผ้ามะเกลือสุด หรือผ้ามัดร่ม กระโจมรูปพรหมสี่หน้าสำหรับสวมศีรษะทอด้วยลายขิด สร้อยสังวาลย์ (ทำจากลำปอ) ย้อมสีเหลืองแล้วตัดเป็นท่อน ๆ ร้อยสลับกับเมล็ดสบู่คำ (อีสานเรียกหมากเยา) หรือมะเขือพวงใช้ใส่สะพายเบี่ยงขนาดสั้นยาวแล้วแต่พอใจ
ในราว ๗๐ - ๘๐ ปี ถึงปัจจุบันได้มีการเพิ่มเครื่องประดับเข้ามาอีก คือ มีร่ม ใช้ร่มสีดำ ใช้แพรลากสี ร้อยดอกไม้ ผูกตามริ้วของร่ม แว่นตาดำ รองเท้า ถุงเท้าสีดำ หรือสีทั่วไป กระดิ่ง โปง นำมาแขวนเอว ทำให้เกิดเลียงดัง สะไนทำจากเขาสัตว์ ส่วนมากทำจากเขาควายมีลิ้นเป่าเสียงยาว สั้นได้ตามความต้องการ เป่าให้สัญญาณเริ่มต้นและหยุด ต่อมาใช้นกหวีดเป่า เพื่อความไพเราะเท่านั้น ใช้สะพายถือเป็นเครื่องประดับอย่างหนึ่ง

    ๒. การเริ่มต้นการเซิ้ง
        การเซิ้งผ้าหมี่ จะเริ่มทำการเซิ้งก่อนวันประเพณีงานบุญบั้งไฟ ๓ วัน โดยทำการเซิ้งไปรอบ ๆ หมู่บ้าน มีวัตถุประสงค์หลักคือเพื่อเตรียมความพร้อมเพิ่มทักษะความสมบูรณ์ในการเซิ้ง วันแห่บั้งไฟ แต่ก็มีวัตถุประสงค์แอบแฝงของคนเฒ่าคนแก่ที่ให้ลูกหลานมาร่วมขบวนเซิ้ง คือ เป็นการอวดผ้าหมี่ผีมือทอของตน อวดลูกชายหลานชายของตนแก่สาว ๆ และว่าที่พ่อตาแม่ยาย ตลอดจนการได้รับทอดไมตรีจากสาวที่ตนหมายปองไว้ด้วยบุหรี่ และนำดื่มในขณะที่เซิ้งผ่านบ้านของสาวด้วยปัจจุบันจะเซิ้งก่อนงานบุญบั้งไฟ ๑ วัน โดยเฉพาะผู้เซิ้งมีหลายกลุ่มที่เซิ้งในแต่ละกลุ่มก็ไม่ได้จำกัดจำนวนคนว่าเท่าไร ก็จะตกลงกันในเวลาเซิ้ง เพื่อไม่ให้ไปเซิ้งซ้ำกันในแต่ละคุ้ม เพื่ออวดสวย ๆ ในแต่ละคุ้มไปด้วย การเริ่มการเซิ้งผ้าหมี่จะเริ่มในตอนเช้า โดยนัดกันว่าจะเริ่มที่บ้านหัวหน้าคณะ เมื่อผู้เซิ้งมารวมกันพอสมควรแล้ว โดยเฉพาะผู้ ตีกลอง และผู้นำกาพย์เซิ้งพร้อมแล้วก็เริ่มเซิ้งผ้าหมี่ไปรอบ ๆ หมู่บ้าน ผู้ที่จะเซิ้งผ้าหมี่ที่แต่งตัวเสร็จแล้ว ก็สามารถเข้าขบวนเซิ้งในระหว่างทางได้เลย โดยการแทรกแถวเข้าไปเซิ้งตามคณะที่เซิ้งได้เลย โดยไม่มีพิธีการอะไร

    ๓. การดำเนินการเซิ้ง
        การเซิ้งผ้าหมี่ เมื่อรวมกลุ่มผู้เซิ้งได้พอสมควร ก็จะดำเนินการเซิ้ง โดยเข้าแถวตอนเรียงสอง คนตีกลองจะเริ่มตีกลองให้จังหวะ หัวหน้าแถวคนหนึ่งจะเป็นผู้ว่ากาพย์เซิ้งให้ลูกคู่ว่าตาม คนนำว่ากาพย์จะต้องท่องให้ได้ ในสมัยก่อนกาพย์เซิ้งจะมีการแสดงธรรมะด้วย บางคนเรียกว่า เซิ้งธรรมะเพราะกาพย์เซิ้งที่สอนธรรมะจะเขียนลงในใบลาน คนตีกลองจะอยู่กลางของขบวน เพื่อให้ขบวนได้ยินเสียงจังหวะกันทุกคน ในท้ายขบวนจะมีคนดัดท้าย คนดัดท้ายจะไม่ว่ากาพย์เซิ้งตามเพื่อน แต่จะมีกาพย์เซิ้งเป็นของตนเอง ต้องทำท่าให้ขัดแย้งกับเพื่อน และทำตัวแปลก ๆ คนดูจะได้หัวเราะ เมื่อกลองเริ่มให้จังหวะ ซึ่งมีเพียงจังหวะเดียวเท่านั้น คือ ปึง ปึ ปึง ปึง……ปึง ปึ ปึง ปึง คนเซิ้งจะถือร่มกางด้วยมือซ้าย เท้าขวาก็จะวนโค้งไปสลับกับเท้าซ้ายให้ถูกจังหวะกลอง พร้อมกับมือที่จีบแล้ววนโค้งไปมาพร้อมกัน และทำการเซิ้งท่านี้ไปตลอด ขณะเดียวกันปากก็ว่ากาพย์ตามต้นเสียง การเซิ้งผ้าหมี่ ชาวบ้านเมื่อคณะเซิ้งผ้าหมี่ผ่านหน้าบ้านตนเองก็จะมีของฝาก เช่น เหล้าขาว ข้าวหมาก และมีขันน้ำเย็นตั้งไว้ที่หน้าบ้านให้ดื่ม การเซิ้งผ้าหมี่ในวันแห่บั้งไฟถือว่าสำคัญที่สุด เพราะวันนั้นคนจากทุกหมู่บ้านทั้งใกล้และไกลมาเที่ยวงานบุญบั้งไฟเป็นจำนวนมาก ผู้ที่เซิ้งก็จะได้เซิ้งอวดสาว ๆ อย่างเต็มที่ การแต่งตัวก็ต้องพิถีพิถัน การเซิ้งก็สุดฝีมือ และการเซิ้งในตอนเช้าขบวนเซิ้งจะต้องนำคณะไปเซิ้งถวายปู่ตาที่ดอนปู่ตามเหสักข์หลักบ้านขออโหสิกรรมที่ล่วงเกิน และขอให้สมปรารถนาในการขอฟ้าขอฝน พอได้เวลาใกล้บ่ายโมงขบวนแห่บั้งไฟเริ่มต้นที่สนามโรงเรียนชุมชนบ้านขวาว แต่ก่อนรวมที่ดอนปู่ตา ขบวนเซิ้งผ้าหมี่จะเป็นขบวนนำในการแห่บั้งไฟไปที่วัดสระโบสถ์ (วัดใต้) ของหมู่บ้าน ก่อนขบวนเข้าประตูวัดผู้เซิ้งผ้าหมี่จะคลี่สไบที่สะเบี่ยงอยู่ที่ตัวออกเพื่อแสดงความเคารพ แล้วเซิ้งโดยกางร่มพร้อมนำสไบออกมากางใช้คลุมไหล่ มือสองข้างจับไว้ขณะเซิ้ง ทำให้เกิดความสวยงาม และเซิ้งเวียนขวารอบโบสถ์ ๓ รอบ ก็เป็นการสิ้นสุดการเซิงผ้าหมี่
ในการเซิ้งผ้าหมี่การว่ากาพย์เซิ้งของต้นเสียง เมื่อพูดไปแล้วลูกคู่ไม่ค่อยว่าตามหรือว่าตามแต่ไม่พร้อมเพียงกันเท่าไร ต้นเสียงก็จะว่ากาพย์เซิ้งด่า ลูกคู่ก็จะว่าตามเป็นอันว่าไม่มีใครว่าใครขบวนก็กลับมาพร้อมเพียงกันอีกครั้งหนึ่ง การเซิ้งก็จะดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ แต่เมื่อไหร่ที่ผู้นำว่ากาพย์เซิ้งเหนื่อยจะมีการเปลี่ยนผู้นำว่ากาพย์ โดยมีสัญลักษณ์ด้วยคำว่า “เอ๊ เอ๊ะ เอ่น สา เล่น เฮ้ว” ลักษณะจากเสียงเล็กน้อยและควรนำกาพย์คนใหม่จะว่าต่อไป เป็นแบบนี้สลับกันไปเรื่อย ๆ นอกจากนี้การจะเปลี่ยนเนื้อหาของกาพย์ ก็จะใช้สัญลักษณ์คำ เช่นเดียวกับการเปลี่ยนผู้นำว่ากาพย์ ตัวอย่างกาพย์เซิ้ง
อุปกรณ์
เครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ
   เครื่องแต่งกาย ประกอบด้วย
๑. ผ้ามัดหมี่ ใช้สำหรับให้ผู้เซิ้งนุ่ง เป็นผ้ายาวทอด้วยไหมสีออกทึบ ๆ ลวดลายไม่เด่นชัด ฝืนใหญ่ขนาดผ้าโจงกระเบนของภาคกลาง แต่เวลานุ่งปล่อยเลยเหมือนผ้าซิ่นของผู้หญิง
๒. เสื้อแขนกระบอกยาวสีดำ สมัยก่อนใช้ผ้าไหมตัด เย็บมือย้อมด้วยมะเกลือ (ทำให้เป็นสีดำ) หรือย้อมคราม (น้ำแต้ม) ลายผ้าเป็นลายตา คล้ายผ้าขาวม้าแต่ลายเล็ก ปัจจุบันใช้เสื้อแขนยาวสำเร็จรูปสีดำแขนยาวแทนภาพประกอบ ๑๐ เสื้อไหมแขนกระบอกยาวสีดำที่ผู้เซิ้งสวมใส่เวลาเซิ้ง
๓. กระโจมรูปพรหมสี่หน้าสำหรับสวมศีรษะ ทอด้วยผ้าไหม หรือผ้าฝ้าย กาบกง (กาบไม้ไย่) เย็บเป็นทรงสูงลายแดงสลับเหลือง ดำ ตรงปลายกระโจมมียอดติดพู่ดูแล้วสวยงามคล้าย ๆ มงกุฎ มีลวดลาย เช่น ลายพระพุทธรูป ลายนก ลายกนก เป็นต้น
๔. สไบ ผ้ามะเกลือสุก มีสีเหลือง ทอด้วยผ้าไหม ใช้ห่มทับเสื้อแบบเฉลียง และคลุมไหล่ในโอกาสที่เซิ่งผ้าหมี่เข้าวัด และมัดร่มด้วย
๕. แพรไหม หรือผ้าแพรไส้เอี่ยน ทอด้วยลายขิด เป็นผ้าผืนขนาดเท่าผ้าขาวม้า มีลวดลายเล็ก ๆ สาเหตุที่เรียกแพรไส้เอี่ยนคงเป็นเพราะเวลารวบเข้าด้วยกันแล้ว เล็กกลมคล้ายไส้เอี่ยน (เอี่ยน คือปลาไหล)
   เครื่องประดับ
๑. สร้อยสังวาลย์ (ทำจากลำปอ) คือ สายสร้อยใช้เชือกหรือด้ายสลอดแล้วร้อยด้วยไม้ย้อมสีเหลืองสลับกับเมล็ดสบู่ดำ (อีสานเรียกว่า หมากเยาในบางพื้นที่ ) ขนาดสั้นยาวแล้วแต่พอใจ 
บางคนใช้ ๑ เส้น บางคนใช้ ๒ เส้นพอมาถึงปัจจุบัน ๗๐ – ๘๐ ปีที่ผ่านมาได้เพิ่มเครื่องประดับ ดังนี้
๑. ร่ม (คันยู) ใช้ร่มสีดำ นำแพรหลากสี ร้อยดอกไม้ มวนยาสูบ ไม้ขีดไฟ ร้อยลูกปัดสี ผ้าเช็ดหน้า ผูกตามริ้วของร่ม แต่เดิมการแต่งร่มด้วยมวนยาสูบที่สาวผู้หมายปองชายที่เซิ้ง ฝากมาเพื่อเป็นการทอดไมตรีให้แก่กัน ฝ่ายชายก็จะรับไมตรีด้วยการนำมวนยาสูบมาผูกห้อยไว้ที่ร่มเช่นกัน
๒. แว่นตาดำ
๓. รองเท้า ถุงเท้าสีดำ

   การแต่งหน้า
        ในการเซิ่งผ้าหมี่ถึงแม้จะเป็นผู้ชายก็มีการแต่งหน้าทาปากให้เกิดสีสัน และน่าสนใจมากขึ้น เดิมจะใช้ขมิ้นทาหน้าให้เหลืองนวล ใช้แป้งที่ลูบจากต้นกล้วยนวล (ซึ่งจะมีสีขาวอยู่ตรงกาบกล้วย) ทาให้เป็นสีขาว ใช้หมากเปื่อยซึ่งมีสีแดงใช้ทาปาก ปัจจุบันใช้เครื่องแต่งหน้าของผู้หญิงที่หาซื้อได้ทั่วไปแต่งตรงกลางแก้มจะใช้หวีจุ่มน้ำไปแตะแป้งเอามาจุ่มลงแก้ม ทำให้เป็นจุด ๆ สวยงามแปลกตาด้วย
   เครื่องดนตรี
เครื่องดนตรีในการเซิ้งผ้าหมี่ มีดังนี้
๑. กลอง ทำด้วยไม้ขนุนหน้ากลองใช้หนังวัวหรือหนังควาย ใช้ม้วนละ ๑ ใบ
๒. กระดิ่ง โปงหรือกระโหล่ง ชาวบ้านใช้แขวนคอวัวคอควาย เพื่อเป็นเครื่องให้
สัญญาณบอกตำแหน่งวัวควายว่ากำลังอยู่ในบริเวณใด เวลาเซิ้งผ้าหมี่ก็นำมาแขวนเอว ทำให้เกิดเสียงดังระงมไพเราะมาก
๓. สะไน ทำจากเขาสัตว์ ส่วนมากทำจากเขาควายมีลิ้นเป่าเสียงยาว สั้น ได้ตามต้องการ ใช้เป่าให้สัญญาณเริ่มต้นและหยุดในสมัยก่อน ต่อมาได้พัฒนาใช้นกหวีดเป่าแทน เพราะหาง่ายและเสียงไพเราะใช้สะพายเวลาเซิ่งผ้ำหมี่ แม้ปัจจุบันจะไม่ใช้เป่าแล้ว ก็ยังใช้สะพายถือเป็นเครื่องประดับอีกอย่างหนึ่ง

โอกาสในการเซิ้งผ้าหมี่
        การเซิ้งผ้าหมี่ จะทำการเซิ้งในงานประเพณีบุญบั้งไฟ โดยจะทำการเซิ้งก่อนงานวันแห่บุญบั้งไฟ ๑ วัน และวันแห่บุญบั้งไฟ โดยจะเป็นขบวนนำในขบวนการแห่บุญบั้งไฟ เมื่อแห่เข้าวัดสระโบสถ์(วัดใต้) จะแห่รอบโบสถ์ในวัดทันที โดยการแห่จะรอบโบสถ์ ๓ รอบ หลังจากนั้นก็แยกย้ายกันดูขบวนแห่อื่น ๆ ทำการเซิ้งผ้าหมี่ จะไม่เข้าร่วมประกวดกับขบวนแห่บุญบั้งไฟแต่อย่างไร ส่วนการไปร่วมงานอื่น ๆ การเซิ้งผ้าหมี่จะไม่มี เพราะการไปเซิ้งผ้าหมี่ไม่มีค่าจ้าง จากคณะกรรมการที่จัดงานบุญบั้งไฟแต่อย่างไร
    
 

 

 

 

 

 

 

Visitors: 110,158