- ท่องเที่ยวตามฮีตประเพณีตำบลขวาว

 

 ฮีตสิบสอง หมายถึง จารีตประเพณีประจำสิบสองเดือน ซึ่งถือเป็นโอกาสดีที่ชาวบ้านจะได้มาร่วมชุมนุมและทำบุญในทุกๆ เดือนของรอบปี และถือเป็นจรรยาของสังคม ผู้ที่ฝ่าฝืนก็จะเป็นผู้ที่ ผิดฮีต หรือ ผิดจารีต นั่นเอง(หลายครั้ง ฮีตสิบสอง มักจะกล่าวควบคู่" คลองสิบสี่ "(คองสิบสี่) ที่เป็นดังแบบแผนหรือแนวทางดำเนินชีวิต(คลอง=ครรลอง)แต่จะมุ่งเน้นไปทางศีลธรรมมากกว่าด้านอาชีพ) 
เซิ้งผ้าหมี่ หนึ่งเดียวในโลก ชมได้ที่เดียว ที่นี่.."งานประเพณีบุญบั้งไฟบ้านขวาว"

        สำหรับประเพณีหลักๆ 12 เดือนตามฮีตสิบสองของชาวอีสานโบราณนั้นประกอบด้วย
       
       เดือนอ้าย มีการประกอบพิธีบุญเข้ากรรม ซึ่งเป็นเดือนที่พระสงฆ์เข้ากรรม (ปริวาสกรรม) เพื่อให้พระสงฆ์ผู้กระทำผิด ได้สารภาพต่อหน้าคณะสงฆ์ เป็นการฝึกจิตสำนึกถึงความบกพร่องของตน และมุ่งประพฤติตนให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัยต่อไป ซึ่งในปีงบประมาณ 2566 เทศบาลตำบลขวาวได้กำหนดจัดโครงการปริวาสกรรมปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติ ประจำปี 2566 ระหว่างวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ถึง 1 มีนาคม 2566 ณ วัดป่าสันติวิเวกวนาราม โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ ชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน ตลอดจนพุทธศาสนิกชนชาวตำบลขวาวเข้าร่วมกิจกรรม ทั้งนี้ เพื่อถวายเป็น
พระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อีกทั้ง เป็นการส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดความสามัคคีในชุมชนอีกด้วย

   

       
       เดือนยี่ ในฤดูหลังการเก็บเกี่ยว ชาวบ้านจะทำบุญคูณข้าวหรือบุญคูณลาน โดยนิมนต์พระสวดมนต์เย็น เพื่อเป็นมงคลแก่ข้าวเปลือก รุ่งเช้าเมื่อพระฉันเช้าแล้วจะมีการทำพิธีสู่ขวัญข้าว นอกจากนี้ชาวบ้านจะเตรียมเก็บสะสมฟืนไว้หุงต้มที่บ้าน ซึ่งในปีนี้เทศบาลตำบลขวาว กำหนดจัดงานในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2559 ณ วัดสันติวิเวกวนาราม เพื่อเสริมสร้างความรัก ความสามัคคีในชุมชน

    
       
       เดือนสาม ในมื้อเพ็ง หรือวันเพ็ญเดือนสาม จะมีการทำบุญข้าวจี่และบุญมาฆบูชา การทำบุญข้าวจี่จะเริ่มตอนเช้า โดยใช้ข้าวเหนียวปั้นใส่น้ำอ้อยนำไปจี่บนไฟอ่อนแล้วชุบด้วยไข่ เมื่อสุกแล้วนำไป ถวายพระ
       
       เดือนสี่ ทำบุญพระเวสฟังเทศน์มหาชาติ ในงานบุญนี้มักจะมีผู้นำของมาถวายพระ ซึ่งเรียกว่า "กัณฑ์หลอน" หรือถ้าจะถวายเจาะจงเฉพาะพระนักเทศน์ที่ตนนิมนต์มาก็จะเรียกว่า "กัณฑ์จอบ" เพราะต้องแอบซุ่มดูให้แน่เสียก่อนว่าใช่พระรูปที่จะถวายเฉพาะเจาะจงหรือไม่
       
       เดือนห้า ประเพณีสงกรานต์ หรือบุญสรงน้ำ หรือบุญเดือนห้า ซึ่งมีขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนห้า และถือเป็นเดือนสำคัญ เพราะเป็นเดือนเริ่มต้นปีใหม่ไทย การสรงน้ำจะมีทั้งการรดน้ำพระพุทธรูป พระสงฆ์ และผู้หลักผู้ใหญ่ ด้วยน้ำอบน้ำหอมเพื่อขอขมาและขอพร ตลอดจนมีการทำบุญถวายทาน ปีนี้เทศบาลตำบลขวาวได้กำหนดจัดงานประเพณีสงกรานต์ ในวันที่ 13 เมษายน 2566 เพื่ออนุรักษ์ประเพณีอันดีงามของไทย ซึ่ีงมีกิจกรรมหลากหลายและได้รับความสนใจจากพ่อแม่พี่น้องผู้มาร่วมงานเป็นอย่างมาก อาทิ พิธีทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระพุทธรูป รดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ การประกวดนางสงกรานต์ผู้สูงอายุ การประกวดเต้นบาสโลป การประกวดร้องเพลง เป็นต้น

   

       เดือนหก ประเพณีบุญบั้งไฟ การทำบุญบั้งไฟเป็นการขอฝน ซึ่งการทำบุญเดือนหกถือเป็นงานสำคัญก่อนการทำนา เฉกเช่นทุกๆปี เทศบาลตำบลขวาวร่วมกับชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านและพี่น้องประชาชนตำบลขวาว ได้พร้อมกันจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟให้ยิ่งใหญ่ตระการตา ที่สำคัญนักท่องเที่ยวจะได้ชมขบวน "เซิ้งผ้าหมี่" หนึ่งเดียวในโลก หาชมได้ที่บ้านขวาวแห่งเดียวเท่านั้น โดยปี 2566 นี้ ได้กำหนดจัดงานเป็นเวลา  2 วัน คือ ในวันแรกเป็นวันแห่ ตั้งขบวน ณ บริเวณสนามโรงเรียนชุมชนบ้านขวาว โดยมีการประกวดขบวนแห่รำเซิ้่ง และการประกวดขบวนบั้งไฟสวยงาม จากนั้นเคลื่อนขบวนแห่ผ่านถนนเส้นกลางบ้านเข้าสู่วัดสระโบสถ์ และในวันที่สองเป็นวันจุดบั้งไฟ ณ ลานสาธารณหนองคู หมู่ที่ 9 บรรยากาศเต็มไปด้วยความม่วนซื่นสนุกสนาน สร้างความประทับใจแก่บรรดานักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ


  

       เดือนเจ็ด ทำบุญซำฮะ (ล้าง) หรือบุญบูชาบรรพบุรุษ มีการเซ่นสรวงหลักเมือง หลักบ้าน ปู่ตา ผีตาแฮก ผีเมือง เป็นการทำบุญเพื่อระลึกถึงผู้มีพระคุณ 

        เดือนแปด ทำบุญเข้าพรรษาซึ่งเป็นประเพณีทางพุทธศาสนาโดยตรง ลักษณะการจัดงานจึงคล้ายกับทางภาคอื่นๆ ของประเทศไทย เช่น มีการทำบุญตักบาตร ถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสงฆ์สามเณร มีการฟังธรรมเทศนาตอนบ่าย ชาวบ้านหล่อเทียนใหญ่ถวายเป็นพุทธบูชาและเก็บไว้ตลอดพรรษา การนำไปถวายวัดจะมีขบวนแห่ฟ้อนรำเพื่อให้เกิดความคึกคักสนุกสนาน ประเพณีแห่เทียนพรรษาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดต้องเป็นที่จังหวัดอุบลราชธานี
       
       เดือนเก้า ประเพณีทำบุญข้าวประดับดิน เป็นการทำบุญเพื่ออุทิศแก่ญาติผู้ล่วงลับ เพื่อบูชาผีบรรพบุรุษและผีไร้ญาติ โดยชาวบ้านจะทำการจัดอาหาร ประกอบด้วยข้าว ของหวาน หมากพลู บุหรี่ ห่อด้วยใบตองกล้วย ร้อยเป็นพวง เตรียมไว้ถวายพระช่วงเลี้ยงเพล บางพื้นที่อาจจะนำห่อข้าวน้อย เหล้า บุหรี่ แล้วนำไปวางหรือแขวนไว้ตามต้นไม้ และกล่าว เชิญวิญญาณของบรรพบุรุษและญาติมิตรที่ล่วงลับไปมารับส่วนกุศลในครั้งนี้ ต่อมาใช้วิธีการกรวดน้ำหลังการถวายภัตตาหารพระสงฆ์แทน การทำบุญข้าวประดับดิน นิยมทำกันในวันแรม 14 ค่ำ เดือนเก้า หรือที่เรียกว่า บุญเดือนเก้า
       
       เดือนสิบ ประเพณีทำบุญข้าวสากหรือข้าวสลาก (สลากภัตร) ตรงกับวันเพ็ญ เดือนสิบ ผู้ถวายจะเขียนชื่อของตนลงในภาชนะที่ใส่ของทาน และเขียนชื่อลงในบาตร ภิกษุสามเณรรูปใดจับได้ สลากของใคร ผู้นั้นจะเข้าไปถวายของ เมื่อพระฉันเสร็จแล้วจะมีการฟังเทศน์ เพื่อเป็นการอุทิศให้แก่ผู้ตาย 

        เดือนสิบเอ็ด ประเพณีทำบุญออกพรรษา ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนสิบเอ็ด พระสงฆ์จะแสดงอาบัติ ทำการปวารณา คือ การเปิดโอกาสให้ว่ากล่าวตักเตือนกันได้ ต่อมาเจ้าอาวาสหรือพระผู้ใหญ่จะให้โอวาทเตือนพระสงฆ์ ให้ปฏิบัติตนอย่างผู้ทรงศีล สำหรับตำบลขวาว เป็นประจำทุกๆ ปี ที่ชาวบ้านจะได้มารวมเพื่อประกอบพิธีกรรมที่เรียกว่า "ประเพณีกวนข้วทิพย์" (มธุปายาส) เป็นพิธีกรรมของศาสนาพรหมณ์ที่มีสอดแทรกเข้ามาในพิธีกรรมทางพุทธศาสนา เพื่อถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ และบูชาพระรัตนตรัย พิธีกวนข้าวทิพย์ได้ยึดถือปฏิบัติเป็นประเพณีสืบต่อกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยมีความเชื่อว่า เมื่อทำพิธีกรรมครบถ้วนแล้วจะเป็นสิริมงคลแก่ผู้ทำและผู้บริโภค และถือเป็นประเพณีที่มีความสำคัญต่อชุมชนและศาสนาทำให้เกิดความรัก ความสามัคคีในชุมชน หมู่คณะ มีส่วนร่วมในการธำรงรัักษามรกดทางวัฒนธรรมให้อยู่อย่างยั่งยืนสืบไป

    
       และเดือนสิบสอง เป็นเดือนส่งท้ายปีเก่า ซึ่งจะมีการทำบุญกองกฐิน โดยเริ่มตั้งแต่วันแรม หนึ่งค่ำ เดือนสิบเอ็ดถึงกลางเดือนสิบสอง แต่ชาวอีสานในสมัยก่อนนิยมเริ่มทำบุญทอดกฐินกันตั้งแต่ข้างขึ้นเดือนสิบสอง จึงมักจะเรียกบุญกฐินว่า บุญเดือนสิบสอง สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำใหญ่ เช่น แม่น้ำโขง แม่น้ำชี และแม่น้ำมูล จะมีการจัดส่วงเฮือ (แข่งเรือ) เพื่อระลึกถึง อุสุพญานาค บางแห่งจะมีการทำบุญดอกฝ้ายเพื่อใช้ทอเป็นผ้าห่มกันหนาวถวายพระเณร มีการจุดพลุตะไล และบางแห่งจะมีการทำบุญโกนจุกลูกสาว ซึ่งนิยมทำกันมากในสมัยก่อน
       
       ประเพณีทั้งสิบสองเดือน ชาวอีสานโบราณถือว่าเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง ตั้งแต่เดือนอ้ายจนถึงเดือนสิบสอง ใครที่ไม่ไปช่วยงานบุญก็จะถูกสังคมตั้งข้อรังเกียจ และไม่คบค้าสมาคมด้วย การร่วมประชุมทำบุญเป็นประจำทำให้ชาวอีสานมีความสนิทสนมรักใคร่และสามัคคีกัน ทั้งภายในหมู่บ้านของตนและในหมู่บ้านใกล้เคียง
       
       สำหรับวันนี้ด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป ส่งผลให้ประเพณี 12 เดือนหลายอย่างของชาวอีสานเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ในขณะที่บางประเพณีก็เริ่มสูญหาย ซึ่งหากประเพณีเหล่านี้ไม่มีการสืบต่อหรือไม่มีการอนุรักษ์ไว้ บางทีในอนาคตเด็กรุ่นใหม่อาจไม่รู้จักประเพณีอันดีงามอย่าง"ฮีตสิบสอง"ก็เป็นได้

Visitors: 110,211